แคร์ (CARE)
องค์กรที่เกิดจากกลุ่มผู้ปกครองของเด็กที่เป็นออทิสติก หรือมีภาวะออทิซึม (ASD) โดยมีความเชื่อว่าเด็กเหล่านี้สามารถพัฒนาให้เติบโตไปได้ ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาทางด้านการรับรู้ เช่น การได้ยิน การมองเห็น การทรงตัว ฯลฯ ทำให้การเรียนรู้ของเขา "ไม่เหมือน" กับเด็กทั่วไป แต่เขาก็สามารถที่จะเรียนรู้หากได้รับการฝึกสอนอบรมอย่างถูกวิธีการ
กระบวนการรับรู้ที่ไม่เหมือนนี้ส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้ "ขาดทักษะ" ในแบบที่จะสามารถพัฒนาขึ้นได้เองโดยธรรมชาติ และแบบที่จะได้รับจากการเรียนการสอนตามหลักสูตรปรกติ การพัฒนาทักษะต่างๆ จึงต้องใช้แนวทางการสอนที่มีคุณลักษณะจำเพาะ อันแตกต่างกับการเรียนการสอนในเด็กอื่น ๆ ทั่วไป ได้แก่
- การเรียนการสอนแบบตัวต่อตัว
- การมีคุณครูประกบหากเป็นการเรียนในห้องเรียนร่วม
- การมีจำนวนชั่วโมงเรียนที่เพียงพอ โดยโครงสร้างของบทเรียนต้องเป็นไปอย่างมีระบบ และมีเป้าหมายชัดเจน
- การได้รับการสอนโดยผู้ชำนาญการที่ได้รับการฝึกอบรมมาโดยเฉพาะ
- ทักษะต่าง ๆ หรือ บทเรียนต่างๆ ต้องมีการออกแบบมาอย่างจำเพาะเจาะจงสำหรับเด็กแต่ละคน และมีการอธิบายขั้นตอนอย่างละเอียด แต่มีรูปแบบที่เรียบง่ายและมองเห็นเป็นรูปธรรม ผ่านการนำเสนออย่างค่อยเป็นค่อยไป
- บทเรียนแต่ละบท จะมีกระบวนการติดตามประเมินผลความก้าวหน้าของเด็ก ว่ามีความเข้าใจในบทเรียนที่ได้รับการสอนและสามารถนำไปใช้ได้จริงในทุกสถานการณ์
ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ คือการนำหลักการของ Applied Behavior Analysis หรือ ABA มาประยุกต์ได้อย่างเหมาะสม
ศูนย์ฯ ได้ร่วมมือกับ CARD อันเป็นองค์กรระดับต้นๆ ในการพัฒนาเด็กที่เป็นออทิสติก หรือมีภาวะออทิซึมด้วยเทคนิค ABA จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีบทเรียนกว่า 4000 บทเรียน ที่ครอบคลุมทักษะในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ทักษะด้านภาษา ทักษะเกี่ยวกับระบบการทำงานของสมองและความคิด ทักษะการใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆและกลไกการเคลื่อนไหว ทักษะทางสังคม ทักษะด้านความเข้าใจและการรับรู้ ทักษะเกี่ยวกับด้านวิชาการ ทักษะการเล่น และทักษะการปรับตัว โดยมีการวางแผนและออกแบบบทเรียนให้เหมาะสมกับเด็ก ”แต่ละคน” โดยมีเป้าหมายหลักคือหวังให้เด็กๆกลุ่มนี้พัฒนาไปจนถึงขีดสุดที่เขาจะไปได้
นอกจากนั้นเรายังมีเป้าหมายในการสร้างความเข้าใจและการรับรู้ให้กับสังคมไทยในประเด็นต่างๆไม่ว่าจะเป็น
- การมองเห็นว่าเด็กๆเหล่านี้มีศักยภาพเพียงพอและสามารถพัฒนาให้สามารถใช้ทักษะต่างๆที่เป็นประโยชน์ได้
- การสร้างหลักสูตรที่มีคุณภาพในการพัฒนาเด็กกลุ่มนี้นั้นมีอยู่จริง เพียงแต่ต้องมีรูปแบบและโครงสร้างที่ชัดเจน และออกแบบโดยอ้างอิงจากศักยภาพที่มีอยู่ของเขาเหล่านั้น เด็กๆ "ต้อง" ได้รับการฝึกและเรียนรู้ภายใต้หลักสูตรที่สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะสำหรับเขา ไม่ใช่หลักสูตรแบบทั่วไป
- และสุดท้ายเรายังมุ่งหวังที่จะสร้างผู้ชำนาญการด้านเด็กพิเศษให้กับสังคมไทย ที่ได้รับการฝึกอบรมจากทั้งในประเทศและต่างประเทศจนมีความรอบรู้ในสายงาน